วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นันทนา บุญหลง

การอ่านเป็นเรื่องที่ดี อยากให้เด็กๆ ได้อ่าน อ่านอะไรก็ได้ที่มีประโยชน์ เป็นการสร้างจินตนาการ หลายครั้งที่อ่านหนังสือแล้วไปดูภาพยนตร์ที่สร้างเรื่องเดียวกัน จะเห็นว่าอ่านหนังสือสนุกกว่า และเรามีความสุขกับจินตนาการที่เราสร้างขึ้นมามากกว่า

ชอบอ่านหนังสือมาก ชอบหนังสือจีนกำลังภายในทุกเรื่องของโกวเล้ง ไม่ว่าจะเป็น ชอลิ้ว

เฮียง เล็กเซียวหงส์ อ่านแล้ว เหมือนอ่านเชอร์ล็อคโฮม ชอบวิธีคิด วิธีสืบสวน สอบสวน ลึกลับ น่าสนใจ น่าติดตาม เป็นการเปรียบเทียบในยุคสมัยโบราณที่สามารถนำมาปรับปรุงใช้ในปัจจุบันได้ ชอบอ่านมาก จนสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์นวนิยายจีนเขาจะส่งมาให้อ่านฟรีทุกเล่มที่พิมพ์ออกมา ส่วนหนังสือที่ประทับใจ ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือให้กำลังใจ หนังสือบทกวี และหนังสือแปล เมื่อมีเวลาว่างก็จะหยิบขึ้นมาอ่านทุกครั้ง

ทุกครั้งที่เข้าร้านหนังสือก็จะอยู่ได้เป็นวันๆ หลักในการเลือกหนังสือคือ จะเลือกอ่านคำนำก่อน เพราะคำนำหรือคำนิยมผู้เขียนจะบอกที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนั้น เป็นสิ่งแรกที่จะเชิญชวนให้เราตัดสินใจว่าอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นหรือไม่

ที่สำคัญที่สุด คือ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยและส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน อย่างแอนตั้งแต่เด็ก คุณพ่อจะทำงานที่ห้องหนังสือ และตัวเองก็จะนั่งทำการบ้านอยู่ในนั้นด้วย ระหว่างที่อยู่ในห้องหนังสือก็จะหยิบหนังสือมาก่อน ตั้งแต่ชั้นหนังสือชั้นแรกเรื่อยมาจนถึงชั้นบนสุด บางเล่มอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นมันคงยากสำหรับเด็ก บางเล่มอ่านแล้วสนุก เช่น หนังสือนิทานของต่างประเทศ ก็อ่านได้ทุกประเภท ทั้งหนังสือเบาสมอง สารคดี ไปจนถึงหนังสือหนักๆ ประเภทประวัติศาสตร์ก็อ่าน เป็นการซึมซับตั้งแต่เด็ก ทำให้เราติดนิสัยรักการอ่านมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเราเจอหนังสือทีไรก็ทำให้อยากอ่านทุกครั้ง เพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือ ผู้ปกครองและเพื่อนๆ ต้องชวนการอ่านหนังสืออ่านให้สนุก ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออ่านเล่นหรือหนังสือเรียน เมื่อทำบ่อยๆ ก็จะติดนิสัยทำให้เรารักการอ่าน

ครูลิลลี่


หนังสือเล่มโปรดและประทับใจมากมีหลายเล่ม ที่จำได้ตั้งแต่วัยเด็กได้อ่านเรื่อง อยู่กับก๋ง เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ของ หยกบูรพา อ่านแล้วรู้สึกชอบ ชอบตรงที่ว่าทำให้เรามีจินตนาการในการสร้างภาพของตัวละครในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของก๋ง บ้านของก๋ง ตื่นขึ้นมาชงชาเป็นลักษณะที่ฝึกจินตนาการของเราที่จำได้และชอบ

หนังสือที่ชอบจริงๆ จะเป็นหนังสือประเภทวิชาการ มีเนื้อหาสาระ มีคุณค่า มีคุณประโยชน์ เช่น พวกสารานุกรมไทย พจนานุกรมต่างๆ ชอบอ่าน ศัพท์ เปิดศัพท์ดูเล่นไปเรื่อยๆ พวกให้ความรู้กับเรา การอ่านต้องใช้สมาธิและเวลา ต้องเสียเวลากับการอ่าน ต้องอ่านแล้วคุ้ม เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ส่วนใหญ่จะชอบการดูและการฟังมากกว่า หากจะอ่านต้องเป็นหนังสือที่ให้ความรู้จริงๆ ถ้าอ่านเพื่อความเพลิดเพลินส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่าน ส่วนเวลาพักผ่อนคลายเครียดก็จะชอบอ่านหนังสือโดยใช้หูฟังเพลงและใช้ตาดูหนังสือมากกว่า ถ้าพูดถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่านนั้นมีมากเหลือเกิน อย่างแรกเลยคือเราจะมีความรู้มากขึ้น มีมุมมองโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น ความคิด ทัศนคติที่ได้จะมีหลายมุม ยิ่งอ่านมากก็ยิ่งจะเป็นผู้ได้เปรียบ รู้ข้อมูลทุกอย่าง ทุกวงการ

สำหรับแนวทางที่จะสร้างเสริมนิสัยให้เด็กรักการอ่าน คืออยากจะบอกว่า อยากอ่านอะไรก็ได้เถอะลุก ยิ่งอ่านมากก็จะยิ่งรู้มาก เมื่อเรามีความรู้มากๆ จะพูด ฟัง อ่าน เขียน จะสื่อสารกับใคร ก็ย่อมได้เปรียบ จะทำข้อสอบก็ได้เปรียบคนที่ไม่ค่อยได้อ่าน อยากให้เยาวชนรักการอ่านมากๆ ค่ะ

อาจารย์สุรวงศ์ วัฒนกูล

ผู้ปกครองควรมีอุบายให้ลูกของเราอ่านหนังสือ อาจจะขอให้เขาช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง ช่วยหาข้อมูลต่างๆ โดยเอาประเด็นสำคัญๆ ที่น่าสนใจ มาเล่ามาอธิบายให้เราฟัง เขาจะรู้จักวิธีค้นหาความรู้ นั่นก็จะเป็นการสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กไปในตัวด้วย

สำหรับเด็ก ควรให้เขาอ่านอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ตำราหรือหนังสือเรียน ให้หาข้อสรุปให้เจอว่าเขาได้อะไรจากการอ่านหนังสือเล่มนั้น ที่ไม่เยอะมากนัก แล้วนำมาวิเคราะห์กันในชั้นเรียนแล้วให้คะแนนเขา ในต่างประเทศเขาจะพาเด็กไปดูหนัง แล้วให้เด็กวิเคราะห์ดูว่าได้ความคิดอย่างไรเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการเรียนการทำงานอย่างไรบ้างทำให้รู้สึกว่าการเรียนมันสนุกขึ้นกว่าเดิมมาก สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ แต่เดิมที่ผ่านมาเรามักจะตีความว่า ถ้าวิชาการหมายถึงตำราที่กระทรวงศึกษาหรือทบวงมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้น จริงๆ แล้วทุกอย่างเป็นวิชาการหมด เพราะ การ คือสิ่งที่กระทำ วิชาคือความรู้ เพราะฉะนั้น ให้เขาอ่านอะไรก็ได้ที่ไม่น่าเบื่อ จะเห็นว่านักเรียนหยิบตำราของโรงเรียนมาอ่านแล้วหลับ ถ้าให้สนุกกว่านั้นการเรียนการสอนสมัยนี้ครูอาจารย์น่าจะเอาทฤษฏีมาแล้วประยุกต์ใช้ด้วยการสอนที่ไม่น่าเบื่อ เด็กก็จะมีความสุขและจะเรียนสนุกกว่าเดิม

ผมชอบอ่านหนังสือประเภทเกร็ดความรู้จากประสบการณ์ หากความรู้ที่จะนำไปประกอบการบรรยายหรือไปพูดที่ไหน ต้องหาหนังสือที่เป็นทฤษฏีจริงๆ อ้างอิงได้มาอ่านเพื่อแนวคิดที่เป็นมาตรฐาน เมื่อนำไปบรรยายก็ไม่ผิด อ่านแล้วเราก็มานั่งดูต่อว่า หลักการที่เราอ่านมานั้นมันตรงกับประสบการณ์จริงที่คนอื่นเคยเจอและเราเคยพบอย่างไรบ้าง ผมชอบอ่านประเภทหนังสือทฤษฎี เพื่อกรุยทางให้เราคิดได้ ชอบอ่านเกร็ดความรู้ ประสบการณ์ในการทำงาน และจะได้เห็นว่าความรู้นอกตำรามีอะไรบ้างที่เราควรจะเรียนรู้เพิ่มเติม ล่าสุดผมอ่านเถ้าแก่มือโปร ซึ่งเขียนโดยคนอเมริกันที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย 10 กว่าปีแล้ว เขามองประเทศไทยแบบตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่ดีเพราะถ้าคนไทยเขียน ก็จะเขียนแบบเข้าข้างตัวเอง แต่การที่คนอเมริกันมาอยู่ที่เมืองไทยนานและพยายามปรับตัวเป็นคนไทย แต่พูดตรงไปตรงมา ทำให้เราได้ข้อคิดอะไรเยอะมาก การที่เราได้อ่านหนังสือที่คนอื่นมองเมืองไทย แล้วสรุปเป็นหลักเกณฑ์ที่ปฏิบัติได้จริงน่าอ่าน และผมว่าทุกคนในแวดวงการศึกษาควรอ่าน จะได้ข้อคิดในการบริหารโรงเรียนในเชิงร่วมสมัยมาก

หลักในการเลือกหนังสือของผม คือ อย่างแรกผมชอบอ่านหนังสืออะไรก็ได้ที่อ่านง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ลึกซึ้ง ต่อมาก็เป็นหนังสือปรัชญา แต่อย่ามัวอ่านเฉพาะเรื่องสนุกอย่างเดียวนะครับ ขอให้อ่านหนังสือปรัชญาด้วย เพราะปรัชญาคือหนังสือย่อความ เหตุที่คนสมัยใหม่ การศึกษา การสื่อสารไม่มีคุณภาพเพียงพอ เป็นเพราะว่าเขาไม่เข้าใจย่อความ เพราปรัชญาคือวิชาย่อความชีวิต

การอ่านสำคัญและจำเป็นอย่างมากในชีวิตการทำงานของผม มันมีข้อมูลที่เราต้องใช้งาน เวลาเราไปบรรยายหรือพูดคุยกับใครอยู่ 2 อย่าง คือ ข้อมูลคงคลังที่เราได้อ่าน ได้ศึกษา และจำเอาไว้ และข้อมูลที่ประยุกต์เฉพาะเรื่องนั้นๆ เมื่อไรก็ตามที่เราคิดเรื่องที่จะพูดไม่ออกเราต้องไปเบิกจากข้อมูลเก่าซึ่งมันมาจากการอ่าน การฟังก็จะได้เปรียบ เหมือนกับคนมีเงินเยอะๆ และสามารถประยุกต์มาใช้ในหน้าที่การงานได้

อยากจะเชิญชวนผู้ปกครองควรมีอุบายให้ลูกของเราอ่านหนังสือ อาจจะขอให้เขาช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง ช่วยหาข้อมูลต่างๆ ให้ โดยเอาประเด็นสำคัญๆ น่าสนใจมาอธิบายให้ฟัง แล้วเราก็ให้รางวัลเขาบ้าง (จ้างให้เขาอ่าน) ที่สำคัญ เด็กฉลาดขึ้นเราก็ฉลาดขึ้นด้วย